โดนปาหินใส่รถ เคลมประกันได้หรือไม่


วันที่เขียน 2019-09-02 17:40:07
วันที่อัพเดทล่าสุด 2019-09-02 17:40:07

โดนปาหินใส่รถ เคลมประกันได้หรือไม่ 

จากการระบาดของแก๊งปาหินที่ออกมาอาละวาดอีกครั้ง ทำให้หลายคนกลัว เพราะไม่รู้ว่าตนเองจะตกเป็นเหยื่อเมื่อไร เพราะการปาหินใส่รถ สามารถก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ แล้วถ้าหากมันเกิดขึ้น จะต้องทำอย่างไรให้ปลอดภัย และสามารถเคลมประกันรถยนต์ได้หรือไม่ วันนี้ Thedriverservice.com มีคำตอบมาฝากกัน 

ที่มารูปภาพ pixabay.com

หลีกเลี่ยงแก๊งค์ปาหินอย่างไร

  • โดยปกติแก๊งปาหินจะออกก่อกวนเวลากลางคืน ทุกเส้นทาง ทุกจังหวัด หรือแม้แต่กรุงเทพมหานครก็ต้องระวัง โดยเฉพาะเส้นทางภาคใต้ และจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงเส้นทางที่เปลี่ยวห่างไกลชุมชน ยิ่งเดินทางช่วงกลางคืนด้วยแล้ว ยิ่งเสี่ยงเพิ่มเป็น 2 เท่า ดังนั้น ช่วงเวลาในการเดินทางที่ดีที่สุดคือช่วงกลางวัน แม้การเดินทางในช่วงกลางคืนจะเย็นสบาย รถไม่เยอะ ไม่วุ่นวาย แต่หากหลีกเลี่ยงได้ก็ควรจะหลีกเลี่ยงดีกว่าเพื่อความปลอดภัย

 

  • ในกรณีที่ต้องเดินทางในเวลากลางคืน ควรเลือกเส้นทางหลัก หรือเส้นทางที่ไม่เปลี่ยว มีผู้ร่วมสัญจรบนท้องถนนเยอะ ๆ หลีกเลี่ยงเส้นทางลัดต่าง ๆ ซึ่งมีผู้คนใช้น้อย แต่หากจำเป็นจะต้องเดินทางในเวลากลางคืนบนถนนสายเปลี่ยวจริง ๆ ควรเปิดไฟสูง (เมื่อมีโอกาส) จะได้มองเห็นรถที่วิ่งสวนมาและคอยระวังได้ เนื่องจากรถจักรยานยนต์ของแก๊งปาหิน มักจะปิดไฟหน้า ซึ่งการเปิดไฟสูงนอกจากจะช่วยให้มองเห็นแล้ว ยังลดวิสัยทัศน์การมองเห็นของคนร้ายได้อีกด้วย นอกจากนี้ ควรระวังเส้นทางโค้ง เพราะแก๊งปาหินมักจะแอบซุ่มอยู่ตามทางโค้งต่างๆนั่นเอง  

 

  • หากพบเห็นจักรยานยนต์ต้องสงสัยขับสวนมาโดยไม่เปิดไฟหน้า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าเป็นคนร้าย และพยายามเปลี่ยนเลนให้ออกห่างจากรถจักรยานยนต์นั้นให้มากที่สุด แต่หากไม่สามารถเปลี่ยนเลนได้ เนื่องจากมีรถตามหลังมา หรือเป็นถนนเลนคู่สวนกัน ให้ลดความเร็วลง ยิ่งรถวิ่งช้าเท่าไหร่ ความเสียหายที่เกิดจากการปาหินก็จะน้อยลงไปด้วย   

วิธีการป้องกันแก๊งค์ปาหินใส่รถยนต์ ดังนี้

1. ใช้ฟิมล์กรองแสงชนิดใสที่กระจกหน้าทั้งบาน เพราะนอกจากจะกันความร้อนได้แล้ว ยังช่วยดูดซับแรงกระแทกจากก้อนหินที่มากระทบได้

2. หากจำเป็นจะต้องเดินทางในเวลากลางคืนบนถนนสายเปลี่ยวจริง ๆ ควรเปิดไฟสูง (เมื่อมีโอกาส) จะได้มองเห็นรถที่วิ่งสวนมาและคอยระวังได้ เนื่องจากรถจักรยานยนต์ของแก๊งปาหิน มักจะปิดไฟหน้า ซึ่งการเปิดไฟสูงนอกจากจะช่วยให้คุณมองเห็นแล้ว ยังช่วยลดวิสัยทัศน์การมองเห็นของคนร้ายได้อีกด้วย นอกจากนี้ ควรระวังเส้นทางโค้ง เพราะแก๊งปาหินมักจะแอบซุ่มอยู่ตามทางโค้งต่างๆนั่นเอง   

3. หากสังเกตเห็นว่ามีรถจักรยานยนต์ กำลังขับขี่สวนทางมายังท่าน ควรชะลอความเร็วและเปลี่ยนช่องการจราจรให้ออกห่างจากรถจักรยานยนต์ดังกล่าวให้มากที่สุด (ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจร) ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนช่องจราจรได้ ให้ลดความเร็วให้เหลือเพียง 40-60 พร้อมกับเปิดสัญญาณไฟกะพริบเพื่อเตือนรถที่ตามหลังว่า เรากำลังจะชะลอตัว ความเร็วยิ่งช้าเท่าไร ความแรงของก้อนหินที่มากระทบรถก็ยิ่งน้อยลง

4. หากรถถูกปาหินใส่ได้รับความเสียหายแล้ว อย่าจอดรถในบริเวณนั้นทันที เพราะคนร้ายอาจตามมาปล้นทรัพย์สินได้ พยายามประคองรถช้าๆ ไปจนกว่าจะพบผู้คนและเข้าขอความช่วยเหลือ อย่างเช่น ปั้มน้ำมัน หรือจุดพักรถ เป็นต้น เพื่อแจ้งตำรวจและขอความช่วยเหลือต่อไป

ที่มารูปภาพ pixabay.com

สามารถเคลมประกันได้หรือไม่

ในกรณีนี้มีเพียงประกันรถยนต์ชั้น 1 เพียงประเภทเดียวเท่านั้น ประกันรถยนต์ประเภทอื่น ๆ ไม่สามารถเคลมได้ เนื่องจากไม่มีความคุ้มครองตัวรถ และที่สำคัญควรแจ้งความเอาไว้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลักฐานด้วย หากความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นชัดเจน เช่น กระจกแตกร้าวอย่างรุนแรง หรือตัวถังบุบเสียหาย มีอุปกรณ์บนรถเสียหาย บริษัทจะทำเคลมประกันจัดซ่อมให้โดยไม่เสียค่าความเสียหาย หรือ Excess 1,000 บาทแรก แต่หากความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ชัดเจนหรือไม่แจ้งเคลมทันทีที่เกิดเหตุ แต่กลับมาแจ้งภายหลัง แถมยังไม่มีหลักฐาน บริษัทประกันอาจจะเรียกเก็บ Excess 1,000 บาทแรก ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ใหม่ ดังนั้น หากเกิดเหตุควรแจ้งความและแจ้งกับบริษัทประกันภัยให้เร็วที่สุด

ในกรณีโดนปาหินใส่รถ แล้วเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงตามมา ทำให้เกิดความเสียหายต่อทั้งรถยนต์และบุคคลที่อยู่ในรถ ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เบื้องต้นสามารถเคลมจาก พรบ. หรือกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ได้เลย ซึ่งรถยนต์ทุกคันจะต้องมีอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นประกันภัยภาคบังคับตามกฎหมายกำหนดเอาไว้ ไม่ต้องรอบริษัทประกันภัยพิสูจน์ความผิด โดยบริษัทประกันจะชดใช้ให้แก่ผู้ประสบเหตุภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำร้องขอค่าเสียหายนั้น ได้แก่ 

  • กรณีบาดเจ็บ จะได้รับการชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
  • กรณีเสียชีวิต จะได้รับค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายจำเป็นในการจัดงานศพจำนวน 35,000 บาท