ติดแค่ พ.ร.บ.รถยนต์ พอไหม


วันที่เขียน 2019-06-28 20:54:03
วันที่อัพเดทล่าสุด 2019-07-08 23:02:04

พ.ร.บ.รถยนต์ เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับรถยนต์ทุกคัน แต่ประกันรถยนต์... เราไม่ซื้อได้ไหม เพราะไม่มีใครมาบังคับ หลายคนคงสงสัยกับคำถามเหล่านี้ 

วันนี้ thedriverservice.com จะมาอธิบายให้เข้าใจว่า พ.ร.บ.รถยนต์ และ ประกันรถยนต์ มีความคล้ายคลึงหรือแตกต่างกันอย่างไร 

เริ่มกันที่ พ.ร.บ. 

พ.ร.บ. ย่อมาจากคำว่า พระราชบัญญัติ ซึ่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ ถือเป็นกฎหมายบังคับให้รถทุกคันต้องมี หากไม่ทำไว้ นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังถือเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีรถด้วย สำหรับหลักเกณฑ์สำคัญของ พ.ร.บ.รถยนต์ นี้คือ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บจะได้รับความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที และในทางกลับกันก็เป็นหลักประกันว่าฝ่ายโรงพยาบาลจะได้รับค่ารักษาด้วย 

พ.ร.บ.รถยนต์ คุ้มครองอะไรบ้าง 

แม้ว่า พ.ร.บ.รถยนต์ สามารถให้ความคุ้มครองได้ก็จริง แต่เป็นวงเงินที่ไม่สูงมาก ตัวอย่างเช่น 

  • หากเกิดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ จะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้น โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิดตามจริงไม่เกิน 30,000 บาท
  • จะได้เงินเสียหายที่เกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้น ในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าเราเป็นฝ่ายถูก ก็จะได้รับเงินชดเชยเป็นค่ารักษาพยาบาลเบิกตามจริงไม่เกินคนละ 80,000 บาท
  • หากในกรณีที่สูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียชีวิต วงเงินชดเชยจะอยู่ที่ 200,000 – 300,000 บาท
  • กรณีทุพพลภาพถาวร หากผู้ประสบภัย เกิดกรณีทุพพลภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง จะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น 35,000 บาท/คน
  • กรณีบาดเจ็บและเสียชีวิตในภายหลัง หลังจากได้รับการรักษาพยาบาล จะได้รับเงินชดเชยค่ารักษาพยาบาลและค่าปลงศพเบื้องต้นรวมไม่เกิน 65,000 บาท/คน

หากไม่ทำ พ.ร.บ.รถยนต์ จะเกิดอะไรขึ้น

รถยนต์คันใดไม่มีหรือมีแต่ขาดการต่ออายุ จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และการไม่ต่อ พ.ร.บ.รถยนต์จะส่งผลให้เราไม่ได้เสียภาษีรถยนต์ ทำให้ป้ายทะเบียนขาดการต่ออายุไปด้วย หากไม่ต่ออายุเป็นเวลานาน 3 ปี เลขทะเบียนของคุณจะถูกระงับ ต้องมานั่งเสียเวลาในการไปจดทะเบียนใหม่อีกครั้ง แถมยังต้องชำระภาษีรถยนต์ย้อนหลังที่พ่วงด้วยค่าปรับอีกด้วย

ที่มารูปภาพ pixabay.com

พ.ร.บ.รถยนต์ แตกต่างจากประกันรถยนต์อย่างไร 

พ.ร.บ.รถยนต์

 จะคุ้มครองผู้ประสบภัยเท่านั้น ไม่ได้ให้ความคุ้มครองตัวรถยนต์ หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา เราอาจจะมีค่าชดเชยมาช่วยในส่วนของค่ารักษาพยาบาล แต่ถ้ารถยนต์เสียหาย จำเป็นต้องซ่อมหรือพังยับเยินจนไม่สามารถใช้งานต่อได้ อาจจะส่งผลให้เราต้องผ่อนซากรถต่อไปจนกว่าจะครบกำหนดสัญญากับไฟแนนซ์ จริงอยู่ว่า หลายคนคงมั่นใจว่าเราขับรถดี ปลอดภัย เคารพกฎจราจร แต่ผู้ขับขี่รายอื่นอาจไม่ใช่แบบนั้น หากโดนรถชนเกือบตาย แล้วยังต้องมาจ่ายหนี้ก้อนโตอีก ด้วยเหตุผลข้อนี้ จึงทำให้ประกันรถยนต์มีความสำคัญมาก 

ส่วนประกันรถยนต์นั้น แม้จะไม่มีการบังคับให้ทำควบคู่กับ พ.ร.บ.รถยนต์ แต่การมีไว้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะประกันแต่ละชั้น หรือแต่ละประเภท ล้วนช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน ทั้งเราไปชนเขา หรือ เขามาชนเรา แม้ว่า พ.ร.บ.รถยนต์ จะมีงบในการให้ความช่วยเหลือ แต่หากเปรียบเทียบแล้ว ประกันภัย

รถยนต์จะให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมกว่า และมีวงเงินช่วยเหลือที่มากกว่า เช่น ในกรณีที่เกิดความเสียหายต่อรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเราหรือคู่กรณี ซึ่งในส่วนนี้ จะไม่ได้อยู่ในขอบเขตการคุ้มครองของ พ.ร.บ. คุ้มครอง ผู้ประสบภัยจากรถยนต์ และหากไม่มีประกันมาช่วย แน่นอนว่าคนที่รับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมดคือ ตัวเราเอง

พรบ.รถยนต์ อย่างเดียวไม่ต้องมีประกันรถยนต์ ได้หรือไม่ 

บางคนอาจมองว่า จะเสียเงินซื้อประกันรถยนต์เป็นหมื่น ๆ ไปทำไม ในเมื่อมีพ.ร.บ.รถยนต์อยู่แล้ว แต่ต้อง ถามกลับว่า “หากขับรถไปชน ย่อมต้องมีการซ่อมแซมเกิดขึ้น เราสามารถรับค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้ไหม” หรือ “หากเกิดอุบัติเหตุใหญ่ จะสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลแสนแพงที่นอกเหนือจากความคุ้มครองของพ.ร.บ.ได้หรือไม่”ถ้าเป็นคนรวยอยู่แล้ว บาดเจ็บมาก็จ่ายไหว รถพังก็ซื้อใหม่ ไม่ขัดสนเรื่องเงินทอง ประกันภัยรถยนต์อาจจะไม่จำเป็น แต่ถ้าไม่ใช่คนที่รวยล้นฟ้า การมีประกันรถยนต์ไว้ ก็ย่อมช่วยให้อุ่นใจไปได้หลายเปาะแน่นอน 

จะทำประกันรถยนต์แบบไหนดี 

สำหรับประกันรถยนต์นั้น มีหลายแบบ ตั้งแต่ประกันชั้น 1 ที่คุ้มครองกรณีรถชน ทั้งที่มีหรือไม่มีคู่กรณี ออกค่ารักษาพยาบาล ค่าสินไหมกรณีรถหาย ไฟไหม้ น้ำท่วม ไปจนถึงประกันชั้น 3 ที่คุ้มครองเฉพาะคู่กรณี แน่นอนว่าความคุ้มครองแบบครอบคลุมขนาดนี้ ย่อมมีค่าเบี้ยประกันที่แพงตามไปด้วย หากใครที่ไม่อยากจ่ายค่าประกันชั้น 1 ซึ่งค่อนข้างสูง แต่อยากมีตัวช่วยที่อุ่นใจไว้ช่วยในยามคับขัน ก็สามารถเลือกประกันชั้นที่สอดคล้องกับงบประมาณของตนเองได้ (อ่านเพิ่มเติม ซื้อประกันยังไงให้ถูกลง) 

ใครที่ลังเลอยู่ อาจจะเลือกซื้อประกันชั้น 3 ก่อนก็ได้ เพราะราคาไม่แรงมาก ซึ่งประกันชั้น 3 นี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เราทำรถเสียหายเอง เจ้าของรถต้องเป็นคนจ่ายเองทั้งหมด แต่ถ้ารถชนแบบมีคู่กรณี ทางบริษัทประกันรถยนต์จะเป็นผู้ดูแลคุ้มครองคู่กรณีให้เอง

ดังนั้น จะเห็นว่า พ.ร.บ.รถยนต์จะคุ้มครองเฉพาะค่าใช้จ่ายสำหรับบุคคลที่ประสบเหตุเท่านั้น ส่วนประกันรถยนต์จะเข้ามาช่วยคุ้มครองตัวรถยนต์ รวมถึงค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆเพิ่มเติมด้วย ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับว่า ตัวเราจะทำ พ.ร.บ.รถยนต์เพียงอย่างเดียว หรือพ่วงประกันรถยนต์ เพื่อรองรับความเสี่ยงอื่นๆที่อาจตามมาในอนาคต