พรบ. รถยนต์ คืออะไร?
พ.ร.บ. ย่อมาจาก พระราชบัญญัติ ซึ่ง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเป็นกฎหมายที่บังคับให้รถทุกคันที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกจะต้องทำและมีไว้เป็นหลักประกันให้กับคนในรถทุกคัน หรือผู้ที่ใช้รถใช้ถนนว่าจะได้รับสิทธิความคุ้มครองจากเงินกองกลางที่รถทุกคันได้ทำ พ.ร.บ. ว่า จะได้รับความคุ้มครอง/เงินค่ารักษาพยาบาลจากการเกิดอุบัติเหตุ หรือการประสบภัยจากรถในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที
ไม่ทำพรบ. ได้หรือไม่?
ไม่ได้ เพราะนอกจากการที่จะทำให้มีปัญหาในการต่อภาษีรถแล้ว ยังเป็นการทำผิดกฎหมายแบบตรง ๆ เนื่องจากกฎหมายได้บังคับให้ทำ พ.ร.บ. ไว้เป็นขั้นพื้นฐานอยู่แล้วเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ประสบภัยจากรถที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้อย่างทันท่วงที ซึ่งวงเงินคุ้มครองที่ผู้ประสบภัยจะได้รับ ได้มีการกำหนดไว้แล้วอย่างชัดเจนว่า จะมีความคุ้มครองในรูปแบบใด ๆ บ้าง และเป็นหลักประกันให้กับโรงพยาบาล/สถานพยาบาลที่รับผู้ประสบภัยเข้าดูแลว่าจะได้รับค่ารักษาพยาบาลด้วยเช่นกัน ซึ่งในแง่กฎหมายจะเป็นการแบ่งเบาภาระค่าเสียหาย และบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยและครอบครัวได้นั่นเอง
พรบ. ต่างกับประกันภัยชั้น 1 2 3 อย่างไร ?
พรบ. เปรียบเสมอนประกันภัยภาคบังคับที่กฎหมายบังคับให้ทำ เพื่อเป็นหลักประกันให้กับคนในรถทุกคัน หรือผู้ที่ใช้รถใช้ถนนว่าจะได้รับสิทธิความคุ้มครองหากฝ่าฝืนไม่ทำถือเป็นการทำผิดกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถชำระภาษีรถยนต์ได้ แตกต่างกับ ประกันภัยชั้น 1/2/3/2+/3+ ตรงที่ ประกันภัยชั้น 1/2/3/2+/3+ เป็นประกันภัยภาคสมัครใจ ผู้ใช้รถจะทำหรือไม่ทำก็ได้ กฎหมายไม่ได้บังคับ แต่ถ้าหากทำเอาไว้ ก็จะเป็นการป้องกันความเสียหายในส่วนที่ พรบ. ไม่คุ้มครอง ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้